การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแหล่งน้ำของแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ปริมาณน้ำไม่พอเพียงต่อความต้องการของภาคส่วนต่างๆ เอสซีจีบูรณาการเครื่องมือประเมินความเสี่ยงด้านน้ำ (AQUEDUCT ของ WRI) ร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย และกลุ่มอุตสาหกรรมในการกำหนดแผน และการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำภายในกระบวนการผลิต 

เป้าหมาย 

  • ภายในปี 2568 ลดการใช้น้ำจากภายนอกลง 23% เทียบกับกรณีปกติ ณ ปีฐาน 2557 

กลยุทธ์ 

  • ลดความเสี่ยงด้านน้ำด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ
  • ลดการใช้น้ำด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในกระบวนการผลิตและสินค้า
  • บำบัดน้ำทิ้งให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานกำหนด ติดตามปริมาณและคุณภาพ รายงานอุบัติการณ์ สอบสวนสาเหตุ แก้ไข และกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยน้ำทิ้งออกสู่ภายนอกให้มากที่สุด
  • นำน้ำเสียผ่านการบำบัดกลับมาใช้งาน
  • ฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ และสนับสนุนน้ำให้ชุมชนและเกษตรกรรม
  • พัฒนาความสามารถของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านน้ำ

ผลการดำเนินการ ปี 2565 

  • ลดการใช้น้ำจากภายนอก 24.1% เทียบกับกรณีปกติ ณ ปีฐาน 2557 
  • สัดส่วนการนำน้ำกลับมาใช้ 13.4% 

ความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำ

เข้าร่วมองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้มีการจัดตั้ง “องค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” 3 ระดับ คือ ระดับชาติโดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระดับลุ่มน้ำโดยคณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งมีทั้งหมด 22 ลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ เอสซีจีจึงได้เข้าร่วมเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมในคณะกรรมการลุ่มน้ำ 7 ลุ่มน้ำเพื่อกำหนดทิศทางการบริหารจัดการ การจัดสรรและจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ รวมทั้งการจัดการน้ำแล้งและน้ำท่วม

บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในภาคตะวันออก

เอสซีจีร่วมมือกับภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต่อเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 โดยเตรียมแผนระยะยาวสำหรับอนาคต เช่น การจัดสร้างแหล่งน้ำ เพิ่มเติม การผันน้ำจากแหล่งน้ำ ฯลฯ และ พัฒนาเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามสถานการณ์น้ำ

นอกจากนี้ธุรกิจเคมิคอลส์ได้เข้าร่วมกับภาคอุตสาหกรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาวลุ่มน้ำวังโตนด โดยสนับสนุนโครงการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนที่เทศบาลตำบลหนองคล้า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ (Constructed Wetland) เพื่อบำบัดน้ำเสียจากชุมชน 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวันก่อนปล่อยสู่คลองวังโตนดซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) ให้ภาคตะวันออก

แนวคิดริเริ่มในการบริหารจัดการน้ำ

พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า EWS

SCGP (ธุรกิจแพคเกจจิ้ง) พัฒนาระบบ Multi Hazards Early Warning System (EWS) เพื่อเตือนภัยล่วงหน้า ทั้งสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายแหล่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น AQUEDUCT และ EDO (European Drought Observatory) ของ UNDRR (United Nations Office for Disaster Risk Reduction) สามารถบอกรายละเอียดที่สำคัญ ทำให้คาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้าราว 7-10 วัน และแจ้งเตือนไปยังโรงงานในพื้นที่ซึ่งต้องรับความเสี่ยงโดยตรงเพื่อให้บริหารจัดการได้ทันท่วงที การพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้านับเป็นความมุ่งมั่นของ SCGP (ธุรกิจแพคเกจจิ้ง) ในการปฏิบัติตามกรอบข้อตกลง Sendai Framework 2015-2030 (ข้อ 7) ในการป้องกันภัยพิบัติและลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

CPAC Water Management Solution

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำร่วมกับชุมชนกว่า 15 ปีมาบูรณาการเป็นโซลูชันการจัดการแหล่งน้ำแบบองค์รวม ทั้งการค้นหา การกักเก็บ และการกระจายน้ำด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เช่น เทคโนโลยีการประเมินพื้นที่และค้นหาแหล่งน้ำโดยโดรนบินสำรวจ, Resistivity System, Ground Penetrating Radar (GPR), SONAR ฯลฯ พร้อมให้คำปรึกษา ออกแบบและก่อสร้างระบบกักเก็บน้ำและระบบกระจายน้ำที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่รวมทั้งเสนอทางเลือกนวัตกรรมใหม่ เช่น ผ้าใบคอนกรีต ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Pump System) แทนการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน CPAC Water Management Solution เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และ ภาคเอกชน เพื่อส่งมอบการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ให้ชุมชนมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี

ผลิตภัณฑ์ประหยัดน้ำ

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมุ่งมั่นพัฒนาสุขภัณฑ์รุ่นใหม่ที่ช่วยประหยัดน้ำมาอย่างต่อเนื่อง และยังให้ความสำคัญกับสุขอนามัยในช่วงสถานการณ์โรคระบาดด้วยระบบอัตโนมัติเช่น สุขภัณฑ์ COTTO Smart Toilet รุ่นใหม่ VERZO ที่มีระบบฝาเปิดปิดอัตโนมัติ ระบบชำระล้างไร้สัมผัส และเพิ่มประสิทธิภาพการชำระล้างด้วยระบบ Powerful Jet ด้วยอัตราการใช้น้ำเพียง 3.8 ลิตรต่อนาที ช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 35% เมื่อเทียบกับมาตรฐานการใช้น้ำ 6 ลิตรต่อนาที ปี 2564 ผลิตภัณฑ์ของ COTTO ที่ได้รับการติดตั้งใช้งานทั้งหมด ช่วยประหยัดน้ำของประเทศได้ถึง 1,149 ล้านลิตร