Nature Positive

เส้นทางการฟื้นฟูธรรมชาติคืนสู่ความสมบููรณ์
เมื่อวันที่ 7-19 ธันวาคม 2565 ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (COP15) ได้บรรลุข้อตกลงกรอบงานว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลกคุนหมิง-มอนทรีออล (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) ส่งผลให้ Nature Positive กลายเป็นเป้าหมายระดับโลกชุดใหม่ ควบคู่กับความตกลงปารีสภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
Nature Positive นั้นมุ่งหยุดยั้งการสูญเสียธรรมชาติ และให้เกิดการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์ในปี 2593 โดยชี้วัดจากความหลากหลายทางชีวภาพ ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และกระบวนการทางธรรมชาติในทุกระดับ เพื่อตอบรับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมปัจจุบันที่ความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับความต้องการอุปโภคบริโภคทรัพยากรของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เช่นเดียวกับที่เป้าหมาย Net Zero ช่วยกระตุ้นภาครัฐและเอกชนทั่วโลกให้เกิดเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและพัฒนาพลังงานทางเลือกใหม่ๆ Nature Positive คือเป้าหมายใหม่ที่ทุกภาคส่วนจะมีบทบาทในการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติรวมถึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและการบริโภคให้มิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม
ธุรกิจของเอสซีจีหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพึ่งพาและส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรธรรมชาติ เราจึงมุ่งมั่นพัฒนาแนวทางในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การบริหารจัดการ การประเมินความเสี่ยง และการวางแผนฟื้นฟูธรรมชาติในระยะยาวให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Nature Positive โดยในปี 2567 เอสซีจีได้จัดตั้งคณะทำงาน Nature Positive Committee ขึ้นมาทำงานร่วมกับคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี เพื่อพัฒนากลยุทธ์การบริหารจัดการการใช้ทรัพยากร โดยศึกษาการพึ่งพาทรัพยากรและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตลอดจนค้นหาแนวทางในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธรรมชาติ รวมทั้งการพัฒนาพนักงานให้มีวิถีชีวิตที่ส่งเสริม Nature Positive ทั้งในระดับครอบครัว จนถึงระดับองค์กร
- รักษาและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เหมือง
เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ยึดหลักการทำเหมืองแบบ Green Mining ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกับชุมชน โดยหลีกเลี่ยงและบรรเทาผลกระทบทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นด้วยการทำเหมืองแบบ Semi-Open Cut เว้นระยะขอบรอบนอกตลอดแนวเหมืองเป็น Buffer Zone คงไว้ซึ่งทัศนียภาพแนวเขาตามธรรมชาติ และร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญภายนอกเพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เหมืองและจัดทำแผนการฟื้นฟูมาตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ตัวอย่างความสำเร็จในการบริหารจัดการเหมืองคือ “เหมืองแม่ทาน” ซึ่งเป็นเหมืองแร่ลิกไนต์และบอลล์เคลย์ (Ball Clay) ในจังหวัดลำปาง ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2526 และยุติการผลิตแร่ในปี 2562 มีขุมเหมืองขนาด 490 ไร่ ลึก 200 เมตร ซึ่งกลายสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีความจุสูงสุด 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อมาในปี 2563 ได้ติดตั้ง Solar Floating ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อส่งน้ำไปยังบ่อเก็บน้ำของชุมชนใกล้เคียงสำหรับใช้ในการเกษตรกรรม เพิ่มผลผลิตและสร้างรายได้ให้ชุมชน มีชื่อโครงการว่า “แม่ทานโมเดล” และปัจจุบันได้ขยายพื้นที่การส่งน้ำให้มากขึ้นภายใต้ชื่อโครงการ “สิริราชโมเดล”

เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ใช้โปรแกรมประมวลผล Minesight เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนาต่อยอดการทำเหมืองเป็น Smart Green Mining ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อสำรวจ วางแผนการผลิต และการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงเปลี่ยนรถบรรทุกหินปูนเครื่องยนต์สันดาปภายในทั้งหมดในเหมืองหินปูนลำปาง จังหวัดลำปาง เป็นรถบรรทุก EV รวม 12 คัน ที่เหมืองหินปูนทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช 4 คัน และเหมืองหินปูนเขาวง จังหวัดสระบุรี 2 คัน
นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้สำเร็จเป็นรายแรกของไทย โดยร่วมมือกับบริษัทเอสไอเอสและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาระบบควบคุมรถบรรทุกรถไฟฟ้าไร้คนขับผ่านทางไกล (EV Unmanned Truck) และนำมาทดลองใช้งานกับระบบ Fleet Management ภายในเหมืองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ปัจจุบันมีการใช้งานจริงแล้ว 2 คัน ที่เหมืองหินปูนเขาวง จังหวัดสระบุรี และมุ่งมั่นที่จะขยายผลไปยังเหมืองอื่นๆ เพื่อมุ่งสู่ Smart Green Mining อย่างต่อเนื่อง โดยรถบรรทุกหินปูนพลังงานไฟฟ้าสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงปีปัจจุบันรวม 3,083 ตัน

การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ การประเมินผลกระทบ และการฟื้นฟูธรรมชาติในพื้นที่เหมืองทุกแห่งในทุกภูมิภาค ดำเนินการโดยความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้แก่ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละเหมืองแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่
- การศึกษา Biodiversity Baseline สำรวจและจัดทำรายชื่อชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ทั้งหมดในพื้นที่
- การศึกษาพันธุ์พืชเชิงลึกเพื่อคัดเลือกและปลูก “ไม้เบิกนำ” (Pioneer Species) พืชที่มีความเหมาะสมต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศ ดึงดูดสัตว์พื้นถิ่น และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเติบโตให้กับพืชชนิดอื่นๆ
- การเก็บข้อมูลความหลากหลายที่เพิ่มขึ้นเองตามธรรมชาติในพื้นที่จากการนำพาของนกและแมลง
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายใหม่จากเป้าหมาย Nature Positive ทำให้เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ต้องมุ่งมั่นพัฒนาแผนฟื้นฟูความหลากหลายในพื้นที่เหมืองต่างๆ ให้สอดรับกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมากขึ้น และบริหารจัดการด้วยความรอบคอบ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อทั้งพื้นที่ภายในเหมือง และพื้นที่ชุมชนโดยรอบตามเป้าหมายในอนาคต
โครงการรักษ์ทะเล เพิ่มบ้านปะการังอย่างต่อเนื่อง
แนวปะการังเป็นทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และที่หลบภัย เป็นอีกส่วนสำคัญของระบบนิเวศใต้ทะเล ที่กำลังเสื่อมโทรมและได้รับความเสียหายทั้งจากการกระทำของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ในปี 2565 เอสซีจีร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิ Earth Agenda 1 เริ่มดำเนินโครงการ “รักษ์ทะเล” โดยนำเทคโนโลยี SCG 3D Printing มาประยุกต์ใช้ขึ้นรูปวัสดุฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง (บ้านปะการัง) เพื่อฟื้นฟูแนวปะการัง และได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนมีลักษณะรูปร่างใกล้เคียงกับปะการังธรรมชาติ และมีลักษณะเหมาะสมกับการอยู่อาศัยของปลาในแนวปะการัง
เอสซีจียังมีส่วนช่วยขยายผลโครงการรักษ์ทะเลโดยการสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ให้เข้ามาร่วมสนับสนุนการส่งมอบบ้านปะการังสู่ท้องถิ่นต่างๆ เช่น สโมสรโรตารี่เหมืองแร่จังหวัดภูเก็ต ส่งมอบบ้านปะการังที่เกาะไม้ท่อน บริษัทไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) ส่งมอบบ้านปะการังที่เกาะราชา บริษัทศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ส่งมอบบ้านปะการังที่เกาะสาก ฯลฯ
ปัจจุบันโครงการรักษ์ทะเลได้วางบ้านปะการังแล้วจำนวน 1,115 หลัง มีปะการังเกิดขึ้น 39,600 โคโลนี จากการสำรวจติดตามผล พบสัตว์เกาะติดทั้งหมด 17 ชนิด ปลา กว่า 50 ชนิด จาก 18 วงศ์

เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC)
ประเมินความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมและศึกษา Biodiversity Baseline
ปี 2566 เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) วางแผนการดำเนินการด้านความหลากหลายทางชีวภาพใหม่ทั้งหมด โดยนำแนวทางข้อตกลงกรอบงานว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลกคุนหมิง-มอนทรีออล (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) ที่มีการตั้งเป้าหมาย Nature Positive เพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุลในปี 2593 มาใช้ในการกำหนดแผนการดำเนินงานโครงการต่างๆ ด้วยหลักการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (SCGC’s Biodiversity Commitments) 3 ข้อ ได้แก่ การไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (No Net Loss) การมุ่งสร้างสมดุลนิเวศเชิงบวก (Net Positive Impact) และการไม่ตัดไม้ทำลายป่า (No Deforestation)
ตามแผนการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของเอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) หรือ SCGC’s Biodiversity Protection Roadmap ในปี 2567 จึงได้ดำเนินการประเมินผลกระทบและความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่ปฏิบัติงาน ควบคู่กับการริเริ่มการศึกษา วิจัย Biodiversity Baseline ในพื้นที่ปลูกป่าชายเลน จังหวัดระยอง กับอิทธิพลที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
สำหรับการประเมินความเสี่ยงและวางแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการตามกรอบของ TNFD LEAP Nature-related Risk Assessment Approach และสร้างระบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Area Assessment by GIS) เพื่อประเมินความเสี่ยงในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบพื้นที่ปฏิบัติงานทั้งหมดของบริษัท ตามหลักการขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)
จากผลการประเมินได้นำมาสู่การจัดทำแผนการดำเนินงานด้าน Nature Positive ในพื้นที่รัศมี 50 กิโลเมตร เช่น การศึกษา Biodiversity Baseline โดยความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทำโครงการวิจัย ติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่ป่าชายเลนปลูก เพื่อประโยชน์ต่อการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและการประเมินความสำเร็จในการปลูกป่าชายเลน ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งจะมีระยะเวลาการศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี 2567-2569 เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กันไป เพื่อให้เห็นถึงปัจจัยร่วมที่มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบนิเวศในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์จากการอนุรักษ์ฟื้นฟูและสร้างความสมดุลให้กับสิ่งมีชีวิต รวมถึงชุมชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงโดยรอบอีกด้วย
นอกจากนี้ เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ยังอยู่ระหว่างการวางแผนและขยายการศึกษาต่อเนื่องในพื้นที่อื่นๆ ให้ครอบคลุมพื้นที่แนวชายฝั่งตะวันออกมากขึ้น ซึ่งจะเป็นรากฐานของการมุ่งสู่เป้าหมาย Nature Positive ในระยะยาวได้อย่างมั่นใจ
เอสซีจีพี (SCGP)
บริหารจัดการสวนป่าด้วยมาตรฐานสากล
เอสซีจีพีมุ่งมั่นสู่องค์กรต้นแบบด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ โดยการดูแลรักษาสมดุลในระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง ผ่านการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนโดยมีตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐานระดับสากล รวมถึงจัดการการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชุมชนอย่างมีส่วนร่วมตามหลักการป่าชุมชน ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
เอสซีจีพีผ่านการตรวจสอบประจำปีจากหน่วยงานภายนอก Forestry Research Center และ FSC (Forest Stewardship Council) โดยได้รับการรับรองจาก FSC ในสามรูปแบบ คือ FSC™-CW/COC, FSC™-FM/COC และ FSC™-FM (SLIMF) ซึ่งสร้างความมั่นใจว่าสินค้าทั้งหมดผ่านมาตรฐานกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation)
10.6%
มีสัดส่วนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ เทียบกับพื้นที่สวนไม้อยู่ที่ร้อยละ 10.6 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 10 ตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน FSC™
นอกจากนี้ เอสซีจีพี ยังใช้ CERT+ ซึ่งเป็นโปรแกรมสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ประเทศไทย (อบก.) ซึ่งออกแบบมาเพื่อคำนวณการกักเก็บคาร์บอนในต้นไม้ โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้าน Satellite x AI ในการวัดปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บได้ของพื้นที่ และติดตามสภาพป่าไม้ เพื่อการจัดการผลผลิต รวมถึงใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการติดตามสถานะการปลูกและพัฒนาของสวนป่าตลอดเวลาที่ดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้ เอสซีจีพีไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่า (No Gross Deforestation) และได้จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนและถูกกฎหมายในทุกขั้นตอนของการผลิตตั้งแต่ วัตถุดิบจนถึงมือลูกค้า รวมทั้งดำเนินการติดตามสถานะความหลากหลายทางชีวภาพและวัดค่าดัชนีความหลากหลายทางพันธุ์พืชอย่างต่อเนื่องในป่าอนุรักษ์ 3 พื้นที่ ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี ป่าอนุรักษ์เขาชะอาง จังหวัดกาญจนบุรี และป่าอนุรักษ์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

2. ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ สร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้

จำนวนประชากรโลกและอัตราการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้ในอนาคต ทุกภาคส่วนจะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนต้นทุนทรัพยากรใหม่ที่ยังไม่ผ่านการใช้ (Virgin Material) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในที่สุดก็อาจนำไปสู่การเกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
ทุกกลุ่มธุรกิจของเอสซีจีจึงมุ่งมั่นผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่การปรับปรุงกระบวนการผลิตลดการใช้ทรัพยากรใหม่ นำกลับวัสดุเหลือใช้มาสร้างคุณค่า พัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อให้สินค้าสามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ควบคู่ไปกับการขยายความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ตลอดจนส่งเสริมการสร้างความตระหนักและความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการขยะที่ถูกต้องแก่สังคมวงกว้าง

เอสซีจี ลดการใช้ทรัพยากรตั้งแต่ต้นทาง
เอสซีจีมุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีใหม่ ลดการใช้ทรัพยากรตั้งแต่ต้นทางให้ได้มากที่สุด พัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนวัตถุดิบเดิมด้วยวัสดุเหลือใช้นำกลับมาเป็นวัตถุดิบใหม่ หรือนำไปเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าใหม่ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาอย่างต่อเนื่อง
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ส่งเสริมการใช้โซลูชัน CPAC BIM สำหรับการออกแบบอาคาร ซึ่งช่วยยกระดับความแม่นยำในการออกแบบและการควบคุมคุณภาพในงานก่อสร้างทั้งระบบ โดยเฉพาะการตรวจสอบจุดผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ลดความผิดพลาดในงานก่อสร้าง ทั้งการตีกลับและการทำงานซ้ำ ทำให้ลดการสูญเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งเวลา แรงงาน เศษวัสดุระหว่างการก่อสร้างได้ 5-15% (ขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทของโครงการ)
ปี 2567 เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง ได้มุ่งลดการใช้ Virgin Raw Material เช่นซีเมนต์ หินทราย โดยติดตั้งโรงบดเศษวัสดุก่อสร้างเหลือใช้เพิ่มจำนวน 3 แห่ง ทำให้ปัจจุบันโรงงานของเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่งมีโรงงานบดเสาสำหรับการรีไซเคิลในทุกโรงงานทั่วประเทศ ส่งผลให้สามารถใช้เศษบดรีไซเคิลจากภายในรวมกับวัตถุดิบรีไซเคิลจากภายนอกมาทดแทนการใช้ Virgin Raw Material ได้ถึง 8% นอกจากนั้นยังนำเศษรีไซเคิลที่เหลือมาพัฒนาเป็นวัสดุถมคันทางเลือก (Alternative Subgrade Material) ในการปรับพื้นที่หรือก่อสร้างถนนทดแทนการใช้ดินถมหรือทรายถม ซึ่งเป็น Virgin Raw Material ในอุตสาหกรรมก่อสร้างในพื้นที่รอบๆ และใกล้เคียงโรงงานทั่วประเทศ
ในส่วนผลิตภัณฑ์ COTTO ได้วิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตสีเคลือบเซรามิกด้วยเปลือกไข่สำหรับสินค้าสุขภัณฑ์และอ่างล้างมือ เพื่อให้เป็น “สุขภัณฑ์ต้นแบบ Bio-Ceramic รายแรกของโลก” ทดแทนการใช้แคลเซียมคาร์บอเนตตามธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปฏิกิริยาเคมีในกระบวนการเผา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นขอจดสิทธิบัตร คาดว่านวัตกรรมใหม่นี้จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ (หินปูน) 460 ตันต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตทั้งหมดรวม 930 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC)
มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อโลก และมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ด้วยการพัฒนา SCGC GREEN POLYMER™ นวัตกรรมเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อธรรมชาติและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า พร้อมขับเคลื่อนแนวทางการผลิตที่ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เราทำงานร่วมกับพันธมิตรอุตสาหกรรมในการเพิ่มสัดส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิลและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน ขยายผลลัพธ์เชิงบวกสู่ชุมชนและสังคม เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจและการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
โครงการเด่นๆ ในปี 2567 เช่น
- กระเบื้องพีวีซีรักษ์โลกจากถุงน้ำยาล้างไต ครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการนำถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีเพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นกระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลคุณภาพสูง (Circular Economy Collaboration: Dialysis Solution Bags to Recycled PVC Tiles) โดยร่วมมือกับ บมจ.พรินซิเพิล แคปิตอล (PRINC) แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (Baxter Healthcare) และไดโนเฟล็กซ์ (Dynoflex) สามารถรีไซเคิลถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้วจำนวน 5,320 ถุง คิดเป็นขยะพลาสติกพีวีซี กว่า 800 กิโลกรัม และได้กระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลคุณภาพสูงนำไปติดตั้งที่หอพักผู้ป่วยโรงพยาบาลพรินซ์ สุวรรณภูมิ ในอนาคตมีแผนขยายไปยังโรงพยาบาลในเครืออีก 3 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ติดตั้งทั้งหมดกว่า 9,000 ตารางเมตร ลดการปล่อยมลพิษและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน


- Wake up Waste เป็น Start Up ของ เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ที่พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการซื้อขายขยะรีไซเคิล และให้บริการรถบีบอัดขยะเคลื่อนที่เพื่อรวบรวมขยะจากพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะโรงแรม โรงพยาบาล ออฟฟิศ และคอนโดมิเนียม นำมาบีบอัดขยะให้มีขนาดเล็กลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลที่เหมาะสมที่สุด ปัจจุบัน Wake up Waste รับซื้อขยะจาก 400 อาคาร และรีไซเคิลขยะไปแล้ว 2,000 ตัน และมีการขยายผลโครงการโดยร่วมกับบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในโครงการ “ลดขยะต้นทางกับบางจากฯ” นำร่องเก็บขยะรีไซเคิลในสถานีบริการน้ำมัน 50 แห่ง
- NETS UP ความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายต่างๆ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, The Youth Fund, Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ฯลฯ ในการจัดเก็บและคัดแยกอวนประมงที่ไม่ใช้แล้วในชายฝั่งจังหวัดระยอง เพื่อนำมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก และนำมาผลิตเป็นเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในปี 2567
โครงการเก็บรวบรวมอวนประมงได้ปริมาณ 5.42 ตัน ช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ 30,568.8 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
- แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ “เครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลก” ครั้งแรกในไทย รีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าสู่ Circular Products ร่วมกับโฮมโปร ชวนลูกค้านำสินค้าเก่าในบ้านมาแลกซื้อสินค้าใหม่พร้อมส่วนลด เพื่อรวบรวมพลาสติกใช้แล้วไปรีไซเคิลเป็น High Quality PCR (Post-Consumer Recycled Resin) ซึ่งเป็น Green Innovation ภายใต้แบรนด์ SCGC GREEN POLYMER™ และขึ้นรูปเป็นสินค้า Circular Product โดยรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าให้เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหม่ด้วยระบบ Closed-loop สามารถนำไปผลิตเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลกสร้างคุณค่าใหม่ให้ผู้บริโภคอีกครั้ง
เอสซีจีพี
พัฒนาบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้

เอสซีจีพีให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการดูแลสิ่งแวดล้อมตามหลักการของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การใช้งาน และนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ (Make-Use-Return) 1 เราจึงได้พัฒนาสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดขยะและของเสียมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสามารถเพิ่มสัดส่วนปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ หรือสลายตัวได้ คิดเป็น 99.7% ของปริมาณบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด และมีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็น 100% ในปี 2573
บรรจุภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิลของเอสซีจีพีเกิดจากความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมการใช้วัสดุยั่งยืน เช่น การใช้เส้นใยเยื่อกระดาษที่รีไซเคิลและย่อยสลายได้ง่ายให้มีคุณสมบัติและประสิทธิภาพสูงขึ้น การใช้ฟิล์มพลาสติกชนิดเดียวแทนการใช้ฟิล์มหลายชนิด ซึ่งทำให้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ง่าย และการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดการกำจัดพลาสติกด้วยการเผาเป็นเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมการนำเศษบรรจุภัณฑ์ที่ผู้บริโภคใช้แล้วกลับมารีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ โดยการตั้งจุด Drop Point ร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อเชื่อมวงจรการรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการ reBox ร่วมกับไปรษณีย์ไทย โครงการกระดาษเก่าแลกกระดาษใหม่ โครงการพากระดาษกลับบ้าน ร่วมกับหน่วยงานราชการและบริษัทต่างๆ โครงการ Packback เก็บบรรจุภัณฑ์เพื่อวันยั่งยืน ร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 90 องค์กร ฯลฯ ในปี 2567 สามารถนำกระดาษเก่ากลับมารีไซเคิลได้จำนวน 101 ตัน
เอสซีจีพีส่งเสริมโมเดลชุมชนจัดการขยะยั่งยืนผ่านการเรียนรู้และขยายผลจากชุมชนต้นแบบใน “โครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี ปราจีนบุรี และขอนแก่นอย่างต่อเนื่อง โดยถึงปี 2567 มีชุมชนร่วมโครงการ 106 ชุมชน ลดปริมาณขยะได้ 358 ตัน สร้างรายได้ 1.4 ล้านบาท
99.7%
ปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำนำกลับมาใช้ใหม่ หรือสลายตัวได้ 99.7% ของปริมาณบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด โดยมีเป้าหมาย 100% ในปี 2573
