พาเจาะลึก! สิงคโปร์โมเดล จากภาษีคาร์บอนสู่เมืองยั่งยืนที่เราต้องรู้

พาเจาะลึก! สิงคโปร์โมเดล จากภาษีคาร์บอนสู่เมืองยั่งยืนที่เราต้องรู้

ทำไมประเทศเกาะเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ จึงเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เริ่มใช้มาตรการภาษีคาร์บอนเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change และที่มาที่ไปของภาษีคาร์บอนในสิงคโปร์เป็นอย่างไร มีความสำคัญต่อการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวของสิงโปร์ได้อย่างไร

เปิดประสบการณ์เรียนรู้จากสิงคโปร์

ทีมงานของเราได้มีโอกาสติดตาม พี่ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน ไปที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 เพื่อเรียนรู้แนวคิดวิธีบริหารจัดการระบบภาษีคาร์บอนของสิงคโปร์ โดยได้มีโอกาสพูดคุยแบบเจาะลึกกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เริ่มจากEconomic Development Board (EDB) หน่วยงานรัฐบาลที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศและเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบภาษีคาร์บอนและกลไกคาร์บอนเครดิต นอกจากนั้นยังได้พูดคุยกับบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำอย่าง ERM ที่ได้รับทุนจาก EDB ในการพัฒนา green jobs และยังได้ฟังมุมมองจากนักลงทุนระดับโลกอย่าง KKR (Kohlberg Kravis Roberts & Co.) บริษัทการลงทุนระดับโลกที่สำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทมีความเชี่ยวชาญในการลงทุนในหุ้นเอกชน โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์อื่น ๆ ทั่วโลกที่มีจุดเน้นในการลดคาร์บอนและสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก

“สิงคโปร์มีความชัดเจนมากในการดึงดูดการลงทุน และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยใช้จุดแข็งด้านการค้าและเทคโนโลยี ทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนโดยนโยบายที่ชัดเจนจากการทำงานร่วมกันของหลายกระทรวง”

4 เสาหลักสู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ของสิงคโปร์

สิงคโปร์มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Net Zero ภายในปี 2050 และได้กำหนด    กลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่

  1. Business Transformation การช่วยเหลือให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
  2. Technology เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด พัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนเพื่อใช้เป็นพลังงานสะอาด พัฒนาเทคโนโลยีในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ
  3. Collaboration สร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั้งด้านการนำเข้าพลังงาน และคาร์บอนเครดิต
  4. Life Style ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน Life Style ของประชาชนให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ

เดินหน้าเรื่องคาร์บอนอย่างจริงจัง

สิงคโปร์เริ่มต้นจากการมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงานมาอย่างยาวนาน ก่อนที่จะขยับมาใช้มาตรการที่แข็งแกร่งขึ้นอย่าง ภาษีคาร์บอน เพราะอะไรทำไมถึงเก็บในรูปแบบภาษีคาร์บอน?

  • ความแน่นอนเพื่อการวางแผน สิงคโปร์กำหนดอัตราภาษีคาร์บอนที่ชัดเจนในแต่ละช่วงเวลา ทำให้ภาคธุรกิจสามารถวางแผนและปรับตัวได้ล่วงหน้า
  • เริ่มต้นจากธุรกิจรายใหญ่ ภาษีคาร์บอนเริ่มต้นจากธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากก่อน เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนกับธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ 25,000 ตันขึ้นไปต่อปี
  • ค่อยๆ เพิ่มอัตรา อัตราภาษีคาร์บอนจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ภาคธุรกิจมีเวลาปรับตัวและลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นในปี ตั้งแต่ปี 2019-2023 ที่ราคา  5 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตัน และจะเพิ่มเป็น 25 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตันในปี 2024-2025 จากนั้นเป็น 45 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตันในปี 2026-2027 โดยมี ตั้งเป้าไว้ที่ 50 ถึง 80 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตันภายในปี 2030
  • ใช้ระบบคาร์บอนเครดิต การจ่ายภาษีคาร์บอนในรูปแบบเครดิตคาร์บอน เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แล้วสิงคโปร์ทำอะไรบ้าง?

แน่นอนว่าการเก็บภาษีคาร์บอนย่อมส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง รัฐบาลสิงคโปร์จึงให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นของนโยบาย ปรับสมดุลระหว่างการบังคับใช้อย่างเข้มงวดกับการให้ส่วนลดหรือเงินช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ เพื่อปกป้องความสามารถในการแข่งขันและการจ้างงานในประเทศ ให้ความสำคัญกับการปรึกษาหารือกับอุตสาหกรรมก่อนการนำภาษีคาร์บอนมาใช้ มีการอภิปรายเกี่ยวกับข้อดีและข้อท้าทายของทั้งภาษีคาร์บอนและโครงการการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และมีการติดตามการใช้มาตรการต่างๆเพื่อนำมาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เน้นความจำเป็นในการร่วมมือระหว่างกระทรวงต่าง ๆ เพื่อร่วมกันออกมาตรการสนับสนุนเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถปรับตัวได้ เช่น

  • ให้เงินสนับสนุน ออกมาตรการสนับสนุนทางการเงิน ให้เงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุนที่หลากหลาย อาทิ เงินสนับสนุนสำหรับบริษัทที่ทำโครงการลดคาร์บอน โครงการสนับสนุนและให้สิ่งจูงใจสำหรับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สินเชื่อที่ยั่งยืน และการให้เงินพัฒนาบุคคลากรในทั้งภาคการศึกษาและภาคเอกชนด้านเทคโนโลยี พลังงาน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • พัฒนาเทคโนโลยี: ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการลดคาร์บอน โดยรัฐสนับสนุนเงินและองค์ความรู้ ร่วมกับภาคการศึกษา ภาคเอกชน ในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การใช้ดาวเทียมในการตรวจสอบปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมา การพัฒนาเทคโนโลยีดักจับ กักเก็บคาร์บอนในรูปแบบพลังงานงานน้ำ และอื่นๆ
  • สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ: มีการทำข้อตกลงกับหลายประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับหลายประเทศ  (เช่น กานา ปาปัวนิวกินี) สำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและความร่วมมือโครงการข้อตกลงเหล่านี้ช่วยให้เครดิตไม่ถูกนับซ้ำและส่งเสริมโครงการพลังงานหมุนเวียน

เราจะเรียนรู้อะไรจากสิงคโปร์ได้บ้าง?

  • การกำกับดูแลและนโยบายที่ชัดเจน เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีกลไกในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ กระบวนการความร่วมมือระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง (multi-stakeholder) ทั้งพลังงาน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจการค้า และกระทรวงการต่างประเทศ จัดตั้งเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยตรง และการปรึกษาหารือกับอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่ามีนโยบายที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
  • การออกกฎหมายและการสนับสนุนนโยบาย การออก/ ปรับปรุงกฎหมายที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนนโยบาย ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการกำหนดราคาคาร์บอน ความจำเป็นในการรายงานการปล่อยก๊าซและการตรวจสอบพลังงานที่ถูกต้องเพื่อใช้เก็บภาษีคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ
  • กลยุทธ์เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม มุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็ง ภาคการผลิตที่สำคัญและมีมูลค่าสูง เช่น ความมุ่งมั่นของสิงคโปร์ในการรักษาภาคการผลิตที่สำคัญ โดยเน้นที่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงและใช้ความรู้มาก เช่น เซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมยา และเคมีภัณฑ์ (specialty chemicals) สร้างความแข็งแกร่งด้านพลังงาน เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เร่งเพิ่มพลังงานหมุนเวียน โดยแบ่งสัดส่วนพลังงานนำเข้า 30%
  • ยืดหยุ่นและให้เวลาในการปรับตัว รัฐไม่ได้หวังรายได้จากการเก็บภาษีคาร์บอน แต่เป็นการเพิ่มต้นทุนให้คาร์บอนเพื่อสร้างการรับรู้ ดังนั้นจึงมีการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างละเอียดรอบคอบ มีการให้ allowance หรือสิทธิ์ในการปล่อยแบบให้เปล่าโดยไม่นำมาคิดภาษีคาร์บอนกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง เริ่มจากการเก็บที่ราคาต่ำให้ผู้จ่ายภาษีวางแผนรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นได้
  • การส่งเสริมการลงทุน มีมาตรการจูงใจในการลงทุนที่น่าสนใจ ทำให้บริษัทต่างชาติสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ โดยรัฐนำรายได้จากภาษีคาร์บอนมาส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่ดึงดูดการลงทุน
  • การพัฒนาบุคลากร ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านพลังงาน เทคโนโลยี ความยั่งยืน และอื่นๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ

มุมมองของนักลงทุนต่อความท้าทายในตลาดพลังงานไทย

หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย การดำเนินการด้านพลังงานถูกควบคุมโดยรัฐเพียงหน่วยงานเดียว ทั้งการผลิต (Generation) การส่ง (Transmission) และการจัดจำหน่าย (Distribution) ทำให้เงินทุนเอกชนเข้าสู่ตลาดและแข่งขันได้ยาก

นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานของสายส่งและการปรับปรุง Grid ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียน ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ต้องการการปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงและเปิดตลาดพลังงานให้กับการลงทุนของภาคเอกชน

การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและการลดคาร์บอนเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับประเทศไทย แต่ต้องการการปฏิรูปนโยบายและการเปิดตลาดเพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน การใช้แบบอย่างที่ประสบความสำเร็จจากอินเดียและออสเตรเลีย ที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาประมูลการบริหารจัดการโครงการพลังงานของรัฐ เป็นตัวอย่างหนึ่งในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการพลังงานของประเทศ และจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในด้านพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคนี้ได้

บทสรุป

แม้ว่าการนำภาษีคาร์บอนมาใช้จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็มีข้อควรพิจารณาหลายประการ เช่น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม และความเป็นธรรมในการเก็บภาษี สิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืน การศึกษาจากประสบการณ์ของสิงคโปร์เป็นแนวทางหนึ่งให้ประเทศไทยสามารถเรียนรู้การกำหนดนโยบายที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาษีคาร์บอนไม่อาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพได้หากขาดการกำกับดูแลที่ดี นโยบายที่ชัดเจน และการสนันสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ

หมายเหตุ: บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์ อาจมีรายละเอียดบางส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน

————————————————————————————————————————————-

เกี่ยวกับผู้เขียน