นวัตกรรม” ในวิกฤต เอสซีจี สู้โควิด 19
ตั้งแต่ปลายปี 2562 เมื่อข่าวโรคระบบทางเดินหายใจลึกลับในเมืองอู่ฮั่นสาธารณรัฐประชาชนจีน ปรากฏขึ้นในหน้าสื่อทั่วโลก ที่สำนักงานใหญ่เอสซีจี บางซื่อ ก็เริ่มประชุมเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ แม้ขณะนั้นจะยังไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศไทยก็ตาม
เมื่อสถานการณ์การระบาดเริ่มขยายขอบเขตออกนอกประเทศจีน จึงมีคำเตือนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปปฏิบัติงานในสาธารณรัฐประชาชนจีนและพื้นที่เสี่ยง จนกระทั่งเข้าสู่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อมากขึ้นในประเทศ เอสซีจีก็ได้กำหนดมาตรการภายในเพื่อป้องกันการติดเชื้อของพนักงานทุกพื้นที่ สร้างหลักประกันว่าธุรกิจจะดำเนินต่อไปได้ในภาวะที่มีการปิดเมืองและปิดประเทศ ทำให้ตลอดช่วงปี 2563 เอสซีจีสามารถผ่านคลื่นการระบาดทุกระลอกจนเข้าสู่ปีที่ 2 ในปี 2564 แต่มากกว่านั้น คือในท่ามกลางข้อจำกัดของการทำงาน ทีมงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเอสซีจีทุกกลุ่มธุรกิจกลับเลือกจะไม่อยู่เฉย แต่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมสนับสนุนการปฏิบัติงานทางการแพทย์ออกมาอย่างหลากหลายและรวดเร็ว แข่งกับสถานการณ์ที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน ด้วยความพร้อมด้านนวัตกรรมที่เอสซีจีดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถผลิตและส่งมอบความช่วยเหลือแก่บุคลากรทางการแพทย์ทต่อสู้กับโรคระบาดอย่างเหน็ดเหนื่อยและเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้ทันท่วงทีในห้วงเวลาแห่งวิกฤต
นวัตกรรม “ที่จุดคัดกรอง”Modular Screening & Swap Unit
ระหว่างการติดตามสถานการณ์โรคระบาดอย่างใกล้ชิดเอสซีจีได้รับรู้ถึงความยากลำบากในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้บุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงต่อการติดเชื้อหน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างจึงเริ่มค้นหาความต้องการจากแพทย์ในหลายโรงพยาบาลเพื่อนำมาเป็นโจทย์ในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน อาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม และประสบการณ์การก่อสร้างบ้านและอาคารที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่เคยทำงานร่วมกับแพทย์ในการพัฒนาระบบการจัดการอากาศเพื่อทำให้บ้านไร้ฝุ่น เทคโนโลยีปล่อยประจุบวกลบในอากาศที่ฆ่าแบคทีเรียและไวรัสมาก่อน ทำให้ทีมงานสามารถพัฒนา “ห้องคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง” และ “ห้องตรวจหาเชื้อ” (Modular Screening Unit & Modular Swap Unit) สำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
ในห้องนี้การสวอบ (swab) จมูกเพื่อส่งตรวจโควิด 19 ด้วยวิธี RT-PCR สามารถทำผ่านผนังกั้น ส่วนที่แพทย์พยาบาลปฏิบัติงานเป็นระบบอากาศความดันบวก ซึ่งจะดันอากาศภายนอกที่อาจมีเชื้อโรคไม่ให้ไหลเข้าห้อง ช่วยให้แพทย์พยาบาลมั่นใจในความปลอดภัย และลดการติดต่อสัมผัสกับผู้ที่มีความเสี่ยงโดยตรงทำให้ลดการใช้ชุด PPEซึ่งกำลังขาดแคลน
ด้วยนวัตกรรมของเอสซีจีทำให้ใช้เวลาผลิตในโรงงานเพียง 7 วัน และติดตั้งที่โรงพยาบาลเพียง 2-3 วัน ช่วยให้โรงพยาบาลรับมือกับสถานการณ์ท้าทายขณะนั้นได้ทันเวลา
ในช่วงแรกเริ่มต้นสร้างให้โรงพยาบาลสี่แห่ง หลังจากนั้นได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิชัยพัฒนาและทุนพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำให้เพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้น จึงเริ่มกระจายส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลในต่างจังหวัด
ส่วนห้องตรวจหาเชื้อ Modular Swap Unit ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลตามภูมิภาคต่างๆ รวม 30 ห้อง โดยทีมงานของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างช่วยกันประสานงานกับแต่ละพื้นที่
กระบวนการผลิตใช้โรงงานในอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ผลิตเป็น “กล่อง” แล้วขนส่งไปยังพื้นที่ก่อสร้างปูพื้นด้วยไวนิลที่ทนทานต่อการทำความสะอาด ติดตั้งระบบปรับอากาศและระบบสื่อสาร เพื่อให้ผู้ใช้บริการพูดคุยกับแพทย์และพยาบาลข้ามห้องกั้น
ตั้งแต่ปี 2563-2564 ผลิตและส่งมอบ Modular Screening Unit และ Swap Unit กระจายทั่วประเทศทั้งหมด 34 ห้อง
นวัตกรรมเพื่อเคลื่อนย้าย Mobile Isolation Unit
โจทย์ในการตรวจหาเชื้ออย่างปลอดภัยของแพทย์ยังได้รับการส่งต่อไปที่ธุรกิจเคมิคอลส์
ที่ผ่านมาทีมงานพัฒนาโซลูชันของธุรกิจเคมิคอลส์เคยทำงานร่วมกับแพทย์ในหลาย โรงพยาบาลเกี่ยวกับการคิดค้น ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทางการแพทย์
ทีมงานธุรกิจเคมิคอลส์เริ่มต้นโดยเดินทางเข้าไปเก็บข้อมูลความต้องการและปัญหาของแพทย์ถึงในโรงพยาบาลเพื่อให้เครื่องมือที่จะสร้างขึ้นใหม่ ตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้จักแน่ชัด แม้จะต้องเสี่ยงอยู่ในพื้นที่พร้อมกันกับแพทย์และแข่งกับเวลา จนเกิดเป็นนวัตกรรมกลุ่ม Mobile Isolation Unit ซึ่งใช้ระบบความดันอากาศแยกพื้นที่ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์
นวัตกรรมสำคัญคือ “ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่” (Negative/Positive Pressure Isolation Chamber) ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการสถานที่คัดกรองโรคที่เพิ่มขึ้นและการตั้งจุดตรวจนอกสถานพยาบาล
ห้องตรวจเชื้อพับครึ่งได้ น้ำหนักเบา มีล้อให้เคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ ในอาคาร 1 ชุดมีห้องตรวจ 3 ห้อง เพดานตะแกรง กรองเชื้อโรค ระบบกรองและปรับความดันอากาศได้ทั้งแบบความดันบวก (อากาศไหลออกจากห้อง กรณีแพทย์อยู่ในห้อง เหมาะกับเมื่อแพทย์ต้องคัดกรองผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และความดันลบ (อากาศไหลเข้าห้องเหมาะสำหรับกรณีให้ ผู้ป่วยอยู่ในห้อง ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ภายนอก) โดยมีตัวกรอง HEPA (กรองฝุ่นระดับ PM2.5 และไวรัส)
โจทย์ที่ยากกว่าตามมา คือการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อหรือผู้ป่วยที่ต้องสอบสวนโรค (Patient Under Investigation, PUI) ซึ่งทำให้บุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงติดเชื้อไปด้วย
“แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ” (Patient Isolation Capsule) จึงได้รับการออกแบบเป็นเตียงแบบปิดโครงสร้างอะลูมิเนียมอัลลอย PVC ใส ความดันอากาศลบทำให้อากาศไหลเข้าแคปซูลก่อนจะไหลออกผ่านทางตัวกรองเชื้อโรค เมื่อทดลองใช้งานครั้งแรกพบว่าต้องเพิ่มจุดใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่วางเสาน้ำเกลือและเครื่องช่วยหายใจจึงดำเนินการปรับแก้จนพร้อมใช้งานแคปซูลทำงานต่อเนื่องได้ 5 ชั่วโมง โดยร่วมมือกับมูลนิธิเอสซีจีสนับสนุนนวัตกรรมดังกล่าวให้โรงพยาบาลและหน่วยกู้ภัย จิตอาสาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างทันท่วงที
“แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบขนาดเล็กเพื่อเข้าเครื่อง CT Scan” (Small Patient Isolation Capsule for CT Scan) ใช้รองรับกรณีที่คนไข้ต้องตรวจสภาพปอดการออกแบบเตียงจึงใช้วัสดุทั้งหมดเป็นโพลิเมอร์ สามารถเข้าเครื่อง CT Scan ได้ทุกยี่ห้อ และได้ภาพผลการวินิจฉัยที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังพัฒนารูปแบบสำหรับขนส่งผู้ป่วยทางอากาศ โดยร่วมมือกับบริษัทประกันภัยด้านสุขภาพสามารถใช้งานในเครื่องบินขนาดเล็กและอุปกรณ์ทั้งหมดผ่านมาตรฐาน ของอุตสาหกรรมการบิน
เมื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างปลอดภัยจนถึงโรงพยาบาลปัญหาที่ตามมาคือคนไข้โรคโควิดไม่สามารถอยู่ปนกับคนไข้อื่น จึงต้องออกแบบ “ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่” (Negative Pressure Isolation Room)มาตอบโจทย์ ซึ่งห้องความดันลบในแต่ละโรงพยาบาลมีจำนวนน้อย และส่วนมากใช้ผ่าตัด ธุรกิจเคมิคอลส์จึงอาศัยจุดแข็งด้านวัสดุโพลิเมอร์ จัดทำห้องที่เบาและสามารถส่งไปประกอบตามโรงพยาบาลได้ โดยเฉพาะหัวใจสำคัญคือการออกแบบให้ ติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว น้ำหนักเบา และระบบสร้างความดันลบและกรองเชื้อโรคที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์
ห้องนี้มีหลักการเดียวกับเต็นท์ คือใช้โครงสร้างโลหะครอบด้วยผ้าใบและพลาสติก PVC ใส กางติดตั้งหรือรื้อถอนได้ภายใน 30 นาที ภายในมีสองชั้น แบ่งส่วนคนไข้และแพทย์ ออกแบบให้อำนวยความสะดวกต่อการทำหัตถการ ของแพทย์โดยมีช่องสอดถุงมือ และสามารถติดตั้งอุปกรณ์การแพทย์ไว้ภายในปัจจุบันนวัตกรรมในกลุ่ม Mobile Isolation Unit กระจายตัวอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งหมด 280 แห่งทั่วประเทศ
นวัตกรรมที่ด่านหน้า เตียงสนามกระดาษ SCGP และ Modular ICU
เข้าสู่ปี 2564 โควิด 19 เริ่มการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยในเดือนเมษายน ครั้งนี้สถานการณ์รุนแรงมากยิ่งกว่า ปีที่แล้ว รัฐบาลเริ่มหาสถานที่สร้างโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนแบบทวีคูณ ทำให้เกิดความต้องการเตียงสำหรับผู้ป่วยจำนวนมากในหลายพื้นที่ SCGP (ธุรกิจแพคเกจจิ้ง) ซึ่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเห็นปัญหาความขาดแคลนเตียงสนามจึงอาศัยความเชี่ยวชาญ เร่งพัฒนาและผลิต “เตียงสนามกระดาษ SCGP” ส่งมอบให้โรงพยาบาลสนามทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว
เตียงสนามกระดาษ SCGP เป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมจากความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบใน SCGP (ธุรกิจแพคเกจจิ้ง) ซึ่งมีประสบการณ์ออกแบบและประยุกต์ใช้วัสดุกระดาษตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย และช่วยเหลือสังคมในสถานการณ์ต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง เช่นสุขากระดาษ SCGP ในช่วงวิกฤตน้ำท่วม
การออกแบบเตียงสนามกระดาษ SCGP มีโจทย์ต้องคิดเรื่องการผลิตจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ความสามารถในการรองรับน้ำหนัก ประหยัดพื้นที่การขนส่ง ผู้ใช้งานประกอบง่าย และเมื่อใช้กับคนป่วยซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อ ก็ต้องเผาทำลายง่าย
ผลลัพธ์จากความคิดสร้างสรรค์และประสบการณ์ที่สั่งสมมาของทีมงาน คือเตียงสนามกระดาษ SCGP ที่สามารถแยกชิ้นส่วนบรรจุกล่องขนส่งได้สะดวก การประกอบเตียงใช้ เวลาน้อย ด้วยการพับ สอด เสียบ และขัดกันไม่ต้องใช้น็อตหรือกาว รับน้ำหนักได้ 100 กิโลกรัมในแนวราบ อายุการใช้งานราว 3 เดือน
จนถึงปลายปี 2564 SCGP (ธุรกิจแพคเกจจิ้ง) ส่งมอบเตียงสนามกระดาษ SCGP ให้โรงพยาบาลสนามทั่วประเทศแล้วมากกว่า 1 แสนเตียง
ความรุนแรงของโรคระบาดในปี 2564 ทำให้ด่านหน้ามีจุดวิกฤติที่สุด คือ “ห้องผู้ป่วยวิกฤติ (ICU)” ที่มีจำกัดขณะที่ ผู้ป่วยระดับสีแดง (วิกฤติ) เพิ่มมากขึ้น หน่วยงานของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างได้รับรู้โจทย์อันท้าท้าย เร่งด่วน ซับซ้อนและยากกว่าห้องตรวจเชื้อด้วยเป็นห้องที่ผู้ป่วยต้องเข้ามาอยู่ประจำ ขณะเดียวกันก็ต้องมีพื้นที่ให้แพทย์พยาบาลทำงานดูแลได้ใกล้ชิด พร้อมด้วยอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยต่างๆ
ทีมผู้พัฒนาจึงต้องเสี่ยงอันตรายเข้าพื้นที่เสี่ยงอีกครั้งเพื่อเก็บข้อมูลและศึกษาการทำงานของแพทย์ในห้อง ICU และรีบนำข้อมูลกลับมาคิดค้นต่อโดยใช้เวลาเพียง 7 วันก็สามารถพัฒนาเป็น Modular ICU ซึ่งมีพื้นที่ใช้งาน 300 ตารางเมตร พื้นที่ส่วนวางเตียงผู้ป่วย 10 เตียงปรับ ความดันอากาศเป็นลบ เมื่อจะเข้ารักษา แพทย์จะสวมชุด PPE ในส่วนพื้นที่ความดันบวก จากนั้นเดินไปตามทาง ซึ่งค่อยๆ ไล่ระดับความดันบวกให้ลดน้อยลงจนถึงส่วนผู้ป่วย ออกแบบเส้นทางเดินเข้าทางและออกอีกทางซึ่งมีส่วนทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ป้องกันเชื้อติดชุด PPE
เทคโนโลยีการสร้างบ้านแบบ Modular ได้รับการนำมาปรับใช้สร้างห้องผู้ป่วยขั้นวิกฤต และออกแบบให้ช่างเทคนิค เข้าซ่อมบำรุงอุปกรณ์โดยไม่ต้องเข้าห้องผู้ป่วย เช่นเดียวกับโครงสร้างบ้าน SCG HEIM โดยการก่อสร้างต้องสามารถแข่งกับเวลาในห้วงวิกฤต ใช้เวลาผลิตในโรงงานเพียง 7 วัน และติดตั้งได้อย่างรวดเร็วในโรงพยาบาลเพียง 10 วัน ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างไม่จดสิทธิบัตร และยังพร้อมส่งมอบแบบก่อสร้างและรายการอุปกรณ์ให้ โรงพยาบาลที่ต้องการนำไปก่อสร้างเองด้วยย้อนกลับไปในส่วนพื้นที่ความดันบวก
……….
บทสรุปของเอสซีจีกับความภูมิใจในการพัฒนานวัตกรรมสู้โควิด 19 ครั้งนี้ คือการได้รับความไว้วางใจจากแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ ให้โอกาสบริษัทคนไทยได้แสดงฝีมือ นำนวัตกรรม ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของเอสซีจี ที่สั่งสมมาพัฒนาและต่อยอดได้อย่างทันท่วงทีซึ่งโดยทั่วไปเทคโนโลยีการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับมักจะเป็นนวัตกรรมจากต่างประเทศ
การสร้างความมีส่วนร่วมของเอสซีจีกับคู่ธุรกิจ ลูกค้าและหน่วยงานต่างๆ มาโดยตลอด ยังทำให้เกิดเป็นความร่วมมือร่วมใจในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคระบาดจนผ่านพ้นมาได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้มูลนิธิเอสซีจียังร่วมสนับสนุนและส่งมอบนวัตกรรมต่างๆ ให้โรงพยาบาลและหน่วยงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมมูลค่ากว่า 90 ล้านบาท ในปี 2564
ไม่นับองค์ความรู้จากการพัฒนานวัตกรรมที่เอสซีจี อาจส่งเสริมเป็นผลิตภัณฑ์เชิงธุรกิจในอนาคตเหนืออื่นใดคือ การได้ร่วมช่วยเหลือผู้คนและสังคม
ในท่ามกลางภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบกว้างขวางและรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยและของโลก
ทั้งหมดคือ “นวัตกรรมยามวิกฤติ” ของเอสซีจีในปีแห่งโรคระบาด